หนองหาน ที่เราจะพาไปเที่ยวคราวนี้ คือ ทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ใน อ.กุมภวาปี กับบางส่วนในพื้นที่ อ.ประจักษ์ศิลปาคมของ จ.อุดรธานี ความอุดมสมบูรณ์ของบึงหนองหานถือเป็นต้นแบบที่น่าสนใจต่อการศึกษาระบบ นิเวศน์วิทยา เพราะที่นี่ชัดเจนความสัมพันธ์ระหว่างพืชพรรณและสัตว์ กลับคืนมาเป็นผลิตผลให้ชาวบ้านได้เก็บเกี่ยวเลี้ยงชีพและหล่อเลี้ยงชุมชนจน เป็นภาพวิถีชีวิตของชาวหนองหานมานานปี กาลเวลาผ่านไปวิถีชาวบ้านกลายเป็นความงดงามตามธรรมชาติในยุคที่ผู้คนโหยหา สิ่งที่เลือนหาย ในขณะที่ความอุดมสมบูรณ์ของบึงหนองหานยังคงอยู่ วงจรชีวิตของ บัวแดง หรือ “บัวสาย” ที่บึงหนองหานจึงเป็นประจักษ์พยานถึงความอุดมสมบูรณ์ที่ควรค่าแก่การศึกษา นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมบัวแดงที่บึงหนองหานจึงงอกงามทั่วท้องน้ำไปไกล สุดลูกหูลูกตานับเป็นหมื่นๆ ไร่ (นี่ยังไม่ถึงครึ่งของบึงเลยด้วยซ้ำ) เพื่อที่การชม ทุ่งทะเลบัวแดง แหล่งชมทุ่งดอกไม้ตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จะได้เต็มอิ่มและเพลิดเพลินกว่าการนั่งเรือชมความงามอย่างเดียว
เรามาสัมผัส ทะเลบัวแดง หนองหานภุมภวาปี ตามคำบอกเล่าของคนที่มาก่อนเรา และหอบความประทับใจกลับไปบอกต่อ และด้วยความที่ได้รับการโปรโมทจากททท.ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนแหล่ง ใหม่เริ่มจะคุ้นเคยในหมู่นักท่องเที่ยว ด้วยความงามอันเป็นเอกลักษณ์ของดอกบัวที่ธรรมชาติรังสรรค์ เมื่อสีแดงอมชมพูของดอกบัวเบ่งบานขึ้นพร้อมๆ กัน ก็จะกลายเป็นภาพความงามอันวิจิตรสุดลูกลูกตาราวกับเนรมิตบนผืนผ้าใบ ขณะที่บรรยากาศโดยรอบบึงหนองหาน ก็สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำตาม ธรรมชาติด้วยพันธุ์ปลาน้ำจืด สายพันธุ์นกท้องถิ่น และพืชน้ำอีกจำนวนมากอันเป็นหัวใจของระบบนิเวศน์ที่หล่อเลี้ยง ทะเลบัวแดง และวิถีชุมชนให้ยั่งยืนจนถึงทุกวันนี้
หากเราเป็นคนต่างถิ่นที่หลงเข้าไปใน อำเภอกุมภวาปี ช่วงราวๆ กลางเดือน – ปลายเดือนธันวาคม ของทุกปี เราอาจพบเห็นชาวบ้านกลุ่มใหญ่ของ ต.บ้านเดียม มาออกันอยู่เนืองแน่นบึงหนองหาน ก็เพราะในช่วงนี้ของทุกปีจะเป็นช่วงใกล้เวลาที่บึงหนองหานจะเปิดบ้านต้อนรับ นักท่องเที่ยวที่หลั่งใหลกันมาล่องเรือชม “ทะเลบัวแดง” ชาวบ้านเขาจึงเตรียมความพร้อมบึงหนองหานด้วยการร่วมแรงร่วมใจระดมเก็บ สาหร่ายกลางพื้นที่นับหมื่นไร่ เพื่อให้ดอกบัวแดงโผล่พ้นน้ำเบ่งบานงดงามอวดนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ใน ช่วงปีใหม่ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์นั่นเอง