ซึ่งกำลังถูกทำลาย และเพื่อตามรอยพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการรักษาความสมบูรณ์ของป่าไม้ต้นน้ำลำธาร สัตว์ป่า และพรรณไม้นานาพันธุ์ ให้เป็นมรดกของลูกหลานไทยคู่กับแผ่นดินไทย วัดป่าภูก้อน จะเป็นสถานที่ที่สงบเหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนาของพระสายกรรมฐาน
พระวิหารที่สวยงามสะดุดตาของวัดป่าภูก้อน ได้รับออกแบบวิศวกรรมโครงสร้าง องค์พระพุทธรูปหินอ่อน พระวิหาร ศาลาราย และอาคารรอบลานเขา โดยพระวิหารมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สมัยรัตนโกสินทร์ มีประตูทางเข้าออกวิหาร 3 ด้าน ภายในถูกตกแต่งอย่างวิจิตรตระการตา แฝงไปด้วยเรื่องราวคำสอนของพระพุทธเจ้า รอบผนังภายในวิหารตกแต่งอย่างสวยงามด้วย ภาพพุทธประวัติและภาพทศชาติ ตกแต่งเป็นภาพปั้นนูนต่ำหล่อด้วยทองแดงจำนวน 22 ช่อง ซึ่งเป็นภาพของพระพุทธเจ้าในองค์ชาติต่างๆ 10 ชาติ เป็นการสื่อความหมายถึงการสั่งสมบารมีด้วยความพรากเพียร และความเสียสละของพระองค์ในทุกๆชาติ โดยด้านบนของทุกภาพ แกะสลักบทสวดอิติปิโสช่องละท่อนด้วยสีเขียวเข้มบนหินอ่อนขาวถือเป็นผนังพระวิหารที่มีเสน่ห์และเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
ภายในวัดมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุ ในพระเกศพระร่วงโรจน์ศรีบูรพา ซึ่งเป็นประธานประดิษฐานหน้าองค์พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์ มีพระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนี พระพุทธไสยาสน์หินอ่อนสีขาว ความยาว 20 เมตร สร้างด้วยหินอ่อนจากประเทศอิตาลี ที่นำมาเรียงซ้อนกันถึง 42 ก้อน ซึ่งเป็นหินขาวอ่อนที่มีความสวยงามและทนทานมากที่สุด ใช้ระยะเวลาในการสร้างถึง 6 ปี สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษา ในปี 2554 คณะพุทธบริษัทวัดป่าภูก้อนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน จึงมีการจัดสร้างพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ขึ้น ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ทางพุทธศิลป์แห่งรัชกาลที่ 9
นอกจากพระวิหารและพระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนีที่เป็นจุดเด่นของวัดป่าภูก้อนแล้ว ยังมี พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์ ที่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันถัดมาทางด้านล่างก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และรูปปั้นหินอ่อนของเหล่าเกจิอาจารย์ชื่อดังของประเทศไทย ซึ่งมีศิษยานุศิษย์อยู่มากมาย โดยนักท่องเที่ยวจะต้องเดินทางขึ้นบันไดยาวเพื่อเข้ามายังเจดีย์เพื่อเข้าไปสักการะบูชา แม้จะสร้างขึ้นได้ไม่นานแต่ที่นี่ถูกยกให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวอีสานอีกหนึ่งแห่ง